มาทำความรู้จักยาสำหรับแก้ปวดประจำเดือนกันดีกว่า


ผมนั่งคิดทุกวันว่าจะเขียนอะไรดีที่ตรงกับปัญหาของคุณๆที่เข้ามาอ่านบล๊อกผมอยู่ก็คิดไม่ค่อยจะออกหรอกครับ เลยจะมีบทความใหม่ๆสองสามวันทีนึงแต่พอดีวันนี้มีน้องคนนึงเข้ามาบอกว่าปวดประจำเดือนก็เลยเออใช่ไม่เคยเขียนเรื่องยาแก้ปวดประจำเดือนลองเขียนดูดีกว่า จะได้เป็นอีกหนึ่งข้อมูลให้กับคุณๆได้ตัดสินใจเมื่อมีอาการครับ

เรื่องของยา 
***ย้ำก่อนนะครับทุกอย่างควรพบแพทย์ก่อนที่จะใช้ยาใดๆ ผมเขียนเพื่อให้คุณๆได้รู้จักยามากขึ้นครับ***
1. พาราเซตามอล อันนี้จะมีหลายยีห้อมากๆ แล้วแต่ใครสะดวก แก้ปวดแบบอ่อนๆได้ครับ ปัจจุบันแนะนำให้กินแค่ 1เม็ด 500 มิลลิกรัม ทุก 4ชั่วโมง ไม่ใช่ 2เม็ดแล้วนะครับ

2. Mefenamic acid หรือยีห้อดังๆเช่น ponstan (มียีห้ออื่นอีกเยอะครับ)ยาตัวนี้ทางการแพทย์จะจัดรวมกันอยู่ในกลุ่มที่ชื่อว่า NSAIDs เป็นยาแก้ปวดระดับอ่อน-กลาง ลดอาการบวม แดง ร้อน(แก้อักเสบ)  สามารถใช้แก้ปวดกล้ามเนื้อ, กระดูกข้อ, รวมถึงปวดประจำเดือนได้ด้วย โดยยาจะออกฤทธิ์ไปยับยั้งสารที่ชื่อว่า Cox 1&2 ซึ่งเป็นต้นเหตุให้รู้สึกปวดครับ  แต่ก็จะมีผลข้างเคียงด้วยครับคือจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองกระเพาะได้ หรือโรคไตได้ด้วยในบางคนฯลฯ

3.Tramadol โดยยา tramadol จะออกฤทธิ์คนละกลไกกับ สองข้อด้านบน ส่วนใหญ่จะใช้เมื่อปวดมากๆจนน้ำตานองหน้า ตัวนี้จะมีฤทธิ์แก้ปวดไม่มีฤทธิ์ลดอาการปวด บวม แดง ร้อน(แก้อักเสบ) พูดง่ายบังอาการไว้นั่นเองครับ แต่กินเยอะๆไม่ดี ผลข้างเคียงสูง มันจึงคล้ายๆกับยาที่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง  และในช่วงนี้เป็นยาที่หายากครับเพราะมีการใช้ผิดกันเยอะ ทำให้ร้านยาโดนควบคุม ดังนั้นไม่จำเป็นก็ไม่ควรไปหาซื้อกินเองครับ




4.Celecoxib หรือชื่อการค้า Celebrex ตัวนี้เป็นยากลุ่ม NSAIDs อีกตัวครับมีฤทธิ์แก้ปวดและลดการอักเสบ
ข้อดีคือ ออกฤทธิ์เร็วขึ้น และระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยกว่าข้อสองเยอะ ดังนั้นมักจะใช้เมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดค่อนข้างเยอะ และอาจจะมีปัญหาเรื่องโรคกระเพาะอาหารเล็กน้อยเพื่อใช้แทน mefenmic acidข้อเสียคือ ราคาสูง ไม่เหมาะกับคนเป็นโรคหัวใจ หลอดเลือด และไต

5.Etoricoxib หรือชื่อาการค้า Arcoxia เป็นยากลุ่ม NSAIDs อีกตัวมีฤทธิ์แก้ปวดกล้ามเนื่อ, กระดูข้อ และแก้ปวดประจำเดือนด้วย มีขนาดยา 60mg, 90mg, 120mg ทั้งสามขนาดจะใช้เหมือนกันคือกินครั้งละ 1เม็ดวันละ 1ครั้งแต่ละขนาดยาจะจ่ายตามความเหมาะสมขึ้นกับดุจลยพินิจของแพทย์ครับ
 ข้อดีคือ ออกฤทธิ์เร็ว(หลังกิน30นาที), และออกฤทธิ์นาน(24ชั่วโมง) ลดผลข้างเคียงเรื่องระคายเคืองกระเพาะอาหาร
 ข้อเสีย ราคาแพง, ไม่แนะนำให้ใช้กับคนไข้ที่เคยมีประวัติโรคหัวใจหลอดเลือด,ไต



สิ่งที่ต้องแจ้งแพทย์และเภสัชทุกครั้งก่อนกินยาแก้ปวดคือ

การแพ้ยา กลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) หรือแพ้ยาอื่นๆ เช่น ibuprofen หรือ diclofenac
ยาอื่นๆ ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง วิตามิน อาหารเสริม และยาสมุนไพร ที่ท่านใช้อยู่ในขณะนี้หรือกำลังจะใช้
ตั้งครรภ์ หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น อาหารไม่ย่อย หรือกรดไหลย้อน หรือลำไส้อักเสบ
เป็นโรคตับ หรือโรคไต
เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน
มีภาวะขาดน้ำ

เรื่องภาวะปวดประจำเดือน ซึ่งผมจะขอคัดลอกจาก ข้อมูลของเว็บหมอชาวบ้านซึ่งท่านเขียนไว้ดีแล้วดังนี้นะครับ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
ปวดประจำเดือน หมายถึง อาการปวดท้องน้อยขณะมีประจำเดือน ซึ่งมักจะเป็นประจำอยู่ทุกเดือน ส่วนใหญ่จะปวดไม่มากและสามารถทำงานได้ตามปกติ ส่วนน้อยที่อาการรุนแรงจนต้องพักงาน ในรายที่ปวดรุนแรงขึ้นทุกเดือน หรือเริ่มปวดครั้งแรกหลังอายุ ๒๕ ปี ก็อาจมีความผิดปกติของมดลูกหรือรังไข่ ซึ่งจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
 
► ชื่อภาษาไทย    
ปวดประจำเดือน

 
► ชื่อภาษาอังกฤษ    
Dysmenorrhea


► สาเหตุ    
ปวดประจำเดือนแบ่งได้เป็น ๒ ชนิด ได้แก่
๑. ปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ (primary dysmenorrhea) จะพบในเด็กสาว ส่วนมากจะมีอาการตั้งแต่มีประจำเดือนครั้งแรกหรือไม่ก็เกิดขึ้นภายใน ๓ ปีหลังมีประจำเดือนครั้งแรก จะมีอาการมากที่สุดในช่วงอายุ ๑๕-๒๕ ปี หลังจากวัยนี้อาการจะค่อยๆ ลดลง บางรายอาจหายปวดหลังแต่งงาน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมีบุตรแล้ว ส่วนน้อยที่ยังมีอาการตลอดไปจนถึงวัยหมดประจำเดือน

ผู้ป่วยจะไม่พบว่ามีความผิดปกติของมดลูกและรังไข่แต่อย่างใด ปัจจุบันเชื่อว่า มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างมีประจำเดือน และมีการหลั่งสารพรอสตาแกลนดิน (prostaglandins) ออกมามากผิดปกติซึ่งกระตุ้นให้มดลูกมีการบิดเกร็งตัว เกิดอาการปวดประจำเดือน

๒. ปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ (secondary dysmenorrhea) มักจะมีอาการปวดครั้งแรก เมื่ออายุมากกว่า ๒๕ ปีขึ้นไป โดยก่อนหน้านี้จะไม่เคยมีอาการปวดประจำเดือนมาก่อน
มักตรวจพบว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติของมดลูกหรือรังไข่ เช่น เยื่อบุมดลูกต่างที่ (endometriosis) ซึ่งมักทำให้มีบุตรยาก เนื้องอกมดลูก ปีกมดลูกอักเสบเรื้อรัง มดลูกย้อยไปทางด้านหลังมาก

เชื่อว่าอารมณ์มีส่วนเสริมความรุนแรงของอาการปวดประจำเดือนทั้ง ๒ ชนิด เช่น  พบว่าผู้มีอารมณ์อ่อนไหวง่ายหรือมีความเครียดจะมีอาการปวดรุนแรงมากกว่าผู้ที่มีอารมณ์ดี


► อาการ  
จะเริ่มมีอาการก่อนมีประจำเดือนไม่กี่ชั่วโมง และเป็นอยู่ตลอดช่วง ๒-๓ วันแรกของประจำเดือน โดยมีอาการปวดบิดเป็นพักๆ ที่บริเวณท้องน้อย บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้  อาเจียน ท้องเดิน ใจคอหงุดหงิดร่วมด้วย
ถ้าปวดรุนแรงอาจมีอาการเหงื่อออก ตัวเย็น มือเท้าเย็นได้



► การแยกโรค
ผู้หญิงที่มีอาการปวดท้องน้อย อาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่บังเอิญมาเกิดอาการช่วงมีประจำเดือนก็ได้ เช่น

o ไส้ติ่งอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตรงบริเวณท้องน้อยข้างขวา ติดต่อกันนานกว่า ๖ ชั่วโมง มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย เดินกระเทือนถูก หรือกดถูกบริเวณนั้นจะมีอาการเจ็บปวด (ซึ่งอาการนี้จะไม่พบในอาการปวดประจำเดือน)

o ปีกมดลูกอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดและกดเจ็บตรงบริเวณท้องน้อย ร่วมกับมีอาการไข้สูง อาจมีอาการตกขาวร่วมด้วย (อาการปวดประจำเดือน จะไม่มีไข้)

   

o นิ่วท่อไต ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบิดเกร็งตรงบริเวณท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่ง และมักมีอาการปวดร้าวลงมาที่ช่องคลอดข้างเดียวกัน (ไม่มีไข้และกดถูกไม่เจ็บแบบเดียวกับอาการปวดประจำเดือน)

ผู้ที่เคยมีอาการปวดประจำเดือนมาก่อน หากมีอาการปวดท้องน้อยที่มีลักษณะที่ไม่เหมือนที่เคยเป็น เช่น ปวดรุนแรงหรือติดต่อกันนานกว่าปกติ กดถูกหรือกระเทือนถูกรู้สึกเจ็บ มีไข้ขึ้นหรือมีอาการตกขาวร่วมด้วย ก็ควรปรึกษาแพทย์เพราะอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ก็ได้



► การวินิจฉัย  
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการปวดท้องน้อยขณะมีประจำเดือน ซึ่งเป็นอยู่ประจำทุกเดือน   โดยไม่มีไข้ กดถูกไม่เจ็บ
ในกรณีที่สงสัยว่า เป็นปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ หรือเกิดจากสาเหตุอื่น แพทย์อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ ใช้กล้องส่องตรวจช่องท้อง เป็นต้น



► การดูแลตนเอง  
๑. นอนพัก ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบ

๒. กินยาแก้ปวด-พาราเซตามอล หรือยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน)  ครั้งละ ๑ เม็ด ซ้ำได้ทุก ๔-๖ ชั่วโมง

๓. ควรปรึกษาแพทย์ ถ้าปวดรุนแรง หรือกินยาแก้ปวดไม่ทุเลา หรือกดถูกเจ็บ มีไข้ ตกขาว มีประจำเดือนออกมากกว่าปกติ หรือหลังแต่งงานแล้วยังมีอาการปวดประจำเดือนและมีบุตรยาก  หรือสงสัยว่าเกิดจากสาเหตุอื่น


► การรักษา  
กรณีที่เป็นปวดประจำเดือนปฐมภูมิ แพทย์จะให้ยาบรรเทาปวด ถ้ามีอาการปวดบิดเกร็งมาก แพทย์อาจให้ยาต้ายการบิดเกร็ง (แอนติสปาสโมติก) เช่น ไฮออสซีน (hyoscine)

รายที่ปวดประจำเดือนรุนแรงเป็นประจำ หากตรวจแล้วไม่พบสิ่งผิดปกติ (ไม่ใช่ปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ) แพทย์อาจให้ผู้ป่วยกินยาเม็ดคุมกำเนิด (กินแบบเดียวกับการใช้คุมกำเนิด  คือวันละ ๑ เม็ดทุกคืน) เพื่อไม่ให้มีการตกไข่ จะช่วยไม่ให้ปวดได้ระยะหนึ่ง อาจให้ติดต่อกันนาน ๓-๔ เดือน แล้วลองหยุดยา ถ้าหากมีอาการกำเริบใหม่ ก็ควรให้กินต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง จนกว่าเมื่อหยุดยาแล้ว อาการปวดประจำเดือนทุเลาไป

ในรายที่ตรวจพบมีสาเหตุผิดปกติ (เป็นปวดประเดือนชนิดทุติยภูมิ) แพทย์ก็จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น ผ่าตัดเนื้องอกมดลูก



► ภาวะแทรกซ้อน
ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน
ส่วนในรายที่เกิดจากเยื่อบุมดลูกต่างที่ อาจทำให้มีบุตรยาก หรือในรายที่เกิดจากเนื้องอกมดลูกอาจทำให้ตกเลือดมากจนเกิดภาวะซีด หรือก้อนโตมากอาจกดทางเดินปัสสาวะ ทำให้เกิดการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะได้



► การดำเนินโรค
ในรายที่เป็นปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิมักจะทุเลาเมื่ออายุมากกว่า ๒๕ ปี หรือหลังแต่งงานหรือมีบุตรแล้ว

ในรายที่เป็นปวดประจำเดือนทุติยภูมิ ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาการปวดมักจะเป็นรุนแรงขึ้นทุกเดือน และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ถ้าได้รับการรักษา อาการปวดประจำเดือนก็จะหายไปได้



► ความชุก
พบได้ประมาณร้อยละ ๗๐ ของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์


1287115735
ป้ายคำ:
โรคตามระบบ [3]
โรคระบบทางอวัยวะเพศหญิง [4]
สารานุกรมทันโรค [5]
Source URL: http://www.doctor.or.th/article/detail/10945

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รีวิวยา Dienogest สำหรับรักษาโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่

กลไกแสดงการแก้อาการแสบร้อนกลางอกของยาอัลไกคอน